top of page

ผลข้างเคียงของยารักษาอาการปวดหลังที่ต้องระวัง

Updated: Oct 28, 2023



ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังส่วนใหญ่มักจะเคยได้รับการรักษาเบื้องต้นด้วยการใช้ยามาก่อน ซึ่งอาจจะได้จากการซื้อยาทานเอง รับจากเภสัชกร หรือได้รับยาตามแพทย์สั่ง ในบทความนี้ผมจะมาให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับยาที่ใช้บ่อยๆว่ามีสรรพคุณอย่างไรและมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง


ยารักษาอาการปวดหลังหรืออาการปวดร้าวลงขาที่เกิดจากโรคกระดูกสันหลังสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่


1. ยาลดปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ลดอาการปวดไม่มากนัก เหมาะสำหรับรายที่มีอาการไม่รุนแรง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ คือ มีพิษต่อตับ ซึ่งมักจะเกิดในกรณีที่ใช้ยาขนาดสูงต่อเนื่องนานเกิน 7 วันขึ้นไป


2. ยาคลายกล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการปวดที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ยาคลายกล้ามเนื้อที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล และยาคลายกล้ามเนื้อที่ไม่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล ผลข้างเคียงที่รุนแรงของยาคลายกล้ามเนื้อมักจะเกิดจากส่วนผสมของพาราเซตามอลเป็นหลัก คือ มีพิษต่อตับดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนตัวยาคลายกล้ามเนื้อเองอาจจะทำให้เกิดอาการง่วงได้


3. ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ยากลุ่มนี้จะช่วยลดการอักเสบของข้อต่อ กล้ามเนื้อและเส้นประสาท ทำให้อาการปวดดีขึ้นได้ ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน และในรายที่ใช้ยาเป็นเวลานานๆ อาจมีผลทำให้ไตทำงานแย่ลงได้


4. ยาลดอาการปวดของเส้นประสาท เช่น Gabapentin และ Pregabalin ยากลุ่มนี้จะช่วยลดอาการที่เกิดจากการกดเบียดเส้นประสาท ได้แก่ อาการปวดร้าวลงขา ผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงนอน เวียนศีรษะ เดินเซ


5. ยาลดปวดอย่างแรงที่มีส่วนผสมของอนุพันธ์มอร์ฟีน เช่น Tramadol หรือยาที่มีส่วนผสมของ Tramadol ยากลุ่มนี้จะเป็นยาออกฤทธิ์ลดปวดค่อนข้างแรง มักจะใช้ในรายที่มีอาการปวดรุนแรงหรือในรายที่มีข้อจำกัดในการใช้ยากลุ่มอื่นๆ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ เช่น เวียนศีรษะ หรือ ติดยาได้ในกรณีที่ใช้ยาปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ


จะเห็นได้ว่ายาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกสันหลังก็อาจมีผลข้างเคียงได้ ดังนั้นในกรณีที่ต้องใช้ยากลุ่มนี้ ควรจะต้องประเมินและชั่งนำ้หนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ยาและผลข้างเคียงจากยา ในกรณีที่อาการเป็นมากอาจจะต้องใช้ยาอย่างเต็มที่ก่อนเพื่อบรรเทาอาการให้มากที่สุด เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็ควรลดการใช้ยาลงเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีข้อจำกัดในการใช้ยาที่แตกต่างกัน ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครับ



 

ผศ.นพ.เกรียงศักดิ์ แซ่เตีย

ศัลยแพทย์ระบบประสาทและกระดูกสันหลัง

16,906 views0 comments

Comments


bottom of page