หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าหมอนรองกระดูกสันหลังกันมาบ้างแล้ว เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อน หมอนรองกระดูกปลิ้น หมอนรองกระดูกเสื่อม แต่ทราบกันหรือเปล่าครับว่าหมอนรองกระดูกสันหลังจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ ในโพสต์นี้ผมจะชวนมาทำความรู้จักกันครับ
หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ซึ่งหน้าตาของหมอนรองกระดูกแต่ละอันจะมี 2 ชั้น คือ ชั้นใน และ ชั้นนอก สำหรับหมอนรองกระดูกชั้นในจะมีลักษณะนุ่มคล้ายๆ วุ้น และล้อมรอบด้วยหมอนรองกระดูกชั้นนอกที่เป็นเส้นใยเหนียวๆ ซึ่งห่อหุ้มป้องกันไม่ให้หมอนรองกระดูกชั้นในเคลื่อนหลุดออกมา เทียบได้กับยางรถยนต์ที่ป้องกันไม่ให้มีลมรั่วออกมา
หน้าที่ของหมอนรองกระดูกสันหลัง 1. เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังได้ เช่น ก้ม เอียง หรือหมุนเอว 2. เป็นตัวรับแรงกระแทก ซึ่งเปรียบได้กับลมที่อยู่ในยางรถยนต์
ทำไมถึงเกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ?
เมื่อมีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกชั้นนอก ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากการยกของหนัก การใช้หลังผิดท่า อุบัติเหตุ หรือการออกกำลังกายที่หนักเกินไป จะมีรูเกิดขึ้นที่หมอนรองกระดูกชั้นนอก ซึ่งหมอนรองกระดูกชั้นในที่มีลักษณะคล้ายวุ้นสามารถเคลื่อนผ่านรูออกมากดทับเส้นประสาทได้ ผู้ป่วยก็จะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ขาอ่อนแรงหรือขาชา
จะเกิดอะไรขึ้นกับรูที่หมอนรองกระดูกสันหลัง ?
ร่างกายจะซ่อมแซมตัวเองด้วยการสร้างพังผืดมาปิดรูที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามความแข็งแรงจะน้อยลงกว่าเดิม ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อนซ้ำได้ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนแรก ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง เช่น การยกของหนัก การนั่งท่าเดียวนานๆ การก้ม-เงยหลังอย่างรุนแรง และการออกกำลังกายหักโหม ในกรณีที่มีข้อสงสัยแนะนำปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยตรงครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก <a href="https://www.freepik.com/free-photos-vectors/people">People photo created by freepik - www.freepik.com</a>
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ แซ่เตีย ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและสมอง
Comentarios